วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555

มารู้จัก “ขุมพลังใต้พิภพ” ที่ทำได้มากกว่า...ต้มไข่


มารู้จัก “ขุมพลังใต้พิภพ” ที่ทำได้มากกว่า...ต้มไข่
เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสดีที่ทีมงานพลัง+งาน ได้ไปเยี่ยมเยือนประเทศญี่ปุ่น
เพื่อเรียนรู้วิธีการแสวงหาความมั่นคงด้านพลังงาน หลังประสบวิกฤตแผ่นดินไหวและการเกิดอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมะ จนเป็นเหตุให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องประกาศปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งสิ้น 59 โรง ลงชั่วคราว เพื่อตรวจสอบระบบความปลอดภัยครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องเริ่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าชนิดอื่นๆ อย่างเต็มที่ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นอย่างมหาศาล
        ดังนั้นในระยะยาว รัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่นในญี่ปุ่นจึงต้องหาทางเลือกด้านพลังงาน ที่มั่นคงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และหนึ่งในนั้นคือ การใช้ขุมพลังใต้บ้าน หรือพลังงานความร้อนใต้พิภพ!! มาผลิตไฟฟ้า
        หลายคนคงชักสงสัยว่า พลังงานความร้อนใต้พิภพ คืออะไร ฟังดูไม่คุ้น แต่หากบอกว่าเป็น พลังงานจากน้ำพุร้อน คงอ๋อไปตามๆ กัน เพราะบ้านเรานิยมใช้แหล่งน้ำพุร้อนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และประกอบอาหารจานเด็ดอย่างไข่ต้ม
        จริงๆ แล้ว พลังงานความร้อนใต้พิภพ คือ พลังงานธรรมชาติอันเกิดจากความร้อนที่ถูกกักเก็บอยู่ในใต้ผิวโลก เมื่อบริเวณดังกล่าวมีการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก จะทำให้เกิดรอยแตกของชั้นหิน และเมื่อมีฝนตกลงมา ก็จะมีการไหลซึมลงไปภายใต้ผิวโลก น้ำนั้นจะไปสะสมและรับความร้อนจากชั้นหินที่มีความร้อน จนกระทั่งน้ำร้อนและกลายเป็นไอน้ำที่มีความดันสูง แล้วจะพยายามแทรกตัวออกมาตามแนวรอยแตกของชั้นหิน ทำให้เราเห็นในรูปของน้ำพุร้อน บ่อน้ำร้อน บ่อโคลนเดือด เป็นต้น
        เราสามารถนำความร้อนดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยหากแหล่งเก็บกักน้ำมีอุณหภูมิสูงมาก เช่น สูงกว่า 180 องศาเซลเซียส และความดันมากกว่า 10 บรรยากาศ เราสามารถแยกไอน้ำร้อนไปหมุนกังหันผลิตไฟฟ้าได้โดยตรง แต่หากแหล่งกักเก็บมีอุณหภูมิสูงปานกลาง หรือน้อยกว่า 180 องศาเซลเซียสแล้ว จะต้องมีการใช้ของเหลวที่มีจุดเดือดต่ำ เช่น Freon Amonia หรือ Isobutane เป็นตัวรับความร้อนจากน้ำร้อนและจะเปลี่ยนสภาพเป็นไอและไปขับกังหันผลิตไฟฟ้าได้
        คราวนี้ ทีมงานพลัง+งาน ได้มีโอกาสไปใกล้ชิดและสัมผัสบรรยากาศของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพกันถึงที่ ณ โรงไฟฟ้าฮัทโชบารุ (Hatchobaru) อยู่ในเขตหุบเขาของเมือง โออิตะ ประเทศญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว
        โรงไฟฟ้าฮัทโชบารุ ดำเนินการโดยบริษัท Kyushu Electric Power จำกัด ซึ่งนับเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในประเทศญี่ปุ่น คือเท่ากับ 110,000 กิโลวัตต์ โดยใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 55,000 กิโลวัตต์ สองตัว ซึ่งเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตัวแรกตั้งแต่ปี 2520
        สำหรับขั้นตอนกว่าจะมาเป็นไฟฟ้า ต้องมีการเจาะท่อเพื่อให้ถึงชั้นหินที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำร้อนและไอน้ำ ซึ่งลึกลงไปใต้ดินประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อไอน้ำและน้ำร้อนขึ้นมาตามท่อ จะมีการแยกไอน้ำไปขับเคลื่อนกังหันโดยตรง ส่วนน้ำร้อนที่เหลือก็จะถูกนำมาพักที่ถังเก็บน้ำร้อน เพื่อรอให้เกิดไอน้ำในถังนี้เพื่อไปขับเคลื่อนกังหันได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งนวัตกรรมนี้เป็นที่สร้างชื่อเสียงและรางวัลให้แก่บริษัท Kyushu
        มีหลายคนสอบถามถึงระบบความปลอดภัยหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างแผ่นดินไหว ซึ่งนับว่ามีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิด ทางทีมงานก็ได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้าว่า ระบบกังหันผลิตไฟฟ้าจะหยุดเดินเครื่องอัตโนมัติทันที เมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนจนทำให้แกนหมุนใบพัดเกิดการเคลื่อนเพียงเสี้ยวมิลลิเมตร !! เชื่อแล้วว่าคนญี่ปุ่นใส่ใจทุกรายละเอียดมาก ว่ากันเป็นหน่วยมิลลิเมตรกันเลยทีเดียว
        นอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานอีกทางเลือกหนึ่งแล้ว ในแง่เศรษฐศาสตร์ การใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพยังมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้ถ่านหินและน้ำมันในการผลิตไฟฟ้า โดยต้นทุนจะขึ้นอยู่กับขนาดของโรงไฟฟ้าที่ติดตั้ง ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าขนาด 5 เมกกะวัตต์ ต้นทุนจะอยู่ที่ 1.34 – 1.60 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นขนาด 50 เมกกะวัตต์ ต้นทุนจะลดลงเหลือประมาณ 0.64 – 0.77 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
        ปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพทั้งสิ้น 18 โรง มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 536 เมกกะวัตต์ หากเทียบในระดับโลกแล้วเป็นอันดับที่ 8 โดยลำดับหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกาประมาณ 3,093 เมกกะวัตต์ รองลงมาเป็นฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ส่วนกำลังการผลิตรวมทั้งโลกเท่ากับ 10,715 เมกกะวัตต์ โดยในจำนวนนี้รวมกำลังการผลิตของประเทศไทยที่เป็นน้องเล็กสุด เท่ากับ 0.3 เมกกะวัตต์  
        สำหรับบ้านเรา มีโครงการด้านพลังงานความร้อนใต้พิภพอยู่แห่งเดียว คือ แหล่งน้ำพุร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้พัฒนาและผลิตกระแสไฟฟ้า และเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2532 มีขนาดกำลังการผลิต 300 กิโลวัตต์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 1,200,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง สามารถทดแทนน้ำมันได้ปีละ 300,000 ลิตร และได้ผลพลอยได้เป็นน้ำเพื่อการเกษตรปีละประมาณ 500,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นน้ำที่เหลือจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ได้ถูกลดอุณหภูมิแล้ว
เห็นเช่นนี้แล้ว บางทีแหล่งน้ำพุร้อนที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศไทยถึง 90 แหล่ง น่าจะมีแววและเป็นโอกาสสำคัญที่คนไทยเองจะได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในอนาคตของเรา ที่มากกว่าการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวแน่ๆ

ขอบพระคุณข้อมูลอ้างอิงจาก คู่มืออบรมพลังงาน ชุด รวมเทคโนโลยีพลังงานชุมชน กระทรวงพลังงาน

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

กิจการเพื่อสังคม...คุณ!! ก็ทำได้


      สวัสดี สิ่งดีๆ รอบตัว ต้อนรับปีมังกรทอง หลายคนตื่นขึ้นมาพร้อมกับภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง ที่ปล่อยวางไม่ลงตั้งแต่ก่อนนอน ภาวะเช่นนี้จะทำให้เรารู้สึก มึนๆ คิดอะไรไม่ออก หากเป็นบ่อยๆ อาจเกิดเป็นความเครียดสะสมได้นะคะ

        เอาล่ะ ส่วนใครที่กำลังรู้สึกว่า ทำงานเพื่ออะไรอยู่ ทำเพื่อตัวเอง? เพื่อครอบครัว? ก็ทำมาบ้างแล้ว รู้สึกเหมือนยังขาดอะไรบางอย่างไป บางอย่างที่ทำให้รู้สึกถึงคุณค่าของชีวิต อยากทำอะไรที่เผื่อแผ่สังคมบ้าง ว่าแล้วพวกเราก็จะนึกถึงกิจกรรมทางสังคม เช่น ไปบริจาคสิ่งของ เลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก และผู้สูงอายุ ฯลฯ ...

        โถ เวลาผ่านไปหนึ่งปีก็แล้ว สองปีก็แล้ว ยังไม่ได้ลงมือทำเพื่อสังคมซักกะอย่าง แถมมีคำพูดติดปากที่ว่า “หาเวลาไม่ได้เลย” หรือไม่ก็ “ภาระงานหนักมาก”

        ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องท้าทายตัวเองให้กล้าทำในสิ่งที่ดีต่อสังคม

        มาลองเปลี่ยนสิ่งที่เราทำอยู่เป็นประจำ หรือสิ่งที่อยากทำ ให้กลายเป็นกิจการเพื่อสังคมกัน คุณ!! ก็ทำได้

        ด้วยกิจกรรมดีๆ ที่อยากกระจายข่าว กับ “โครงการร่วมสร้างกิจการให้มั่นคง พัฒนาเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” โดยสำนักงานสร้างเสริมกิจกรรมเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ที่เปิดโอกาสให้คนไทยลุกขึ้นมาจากวิกฤติที่รุมเร้า มาสร้างสรรค์ไอเดียเพื่อทำกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้ดียิ่งขึ้น

        เข้าร่วมง่ายๆ เพียงส่งแนวคิดจากกิจการ กิจกรรม ที่ทำอยู่ หรือที่อยากทำ มาปั้นเป็น “แผนธุรกิจการดำเนินกิจการเพื่อสังคมของเรา” ที่มีความชัดเจนในการแก้ไขหรือรับมือใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ อาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
        คุณจะมีสิทธิได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง 2 ด้าน คือ
1.     ได้รับความรู้และคำปรึกษา และได้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ให้ความรู้เรื่องการจัดทำแผนธุรกิจและการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ระยะเวลา 3 วัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากแผนธุรกิจSEของคุณได้รับการคัดเลือก จะมีทีมที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญช่วยให้คำแนะนำตลอดโครงการ
2.   ด้านเงินลงทุน แผนธุรกิจ SE ที่ได้รับการคัดเลือกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 แผนต่อประเด็น จะได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินการ จำนวน 100,000 บาทต่อแผน นอกจากจะได้รับคำแนะนำจากทีมที่ปรึกษาตลอดโครงการเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว ยังได้รับสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมพบผู้สนับสนุน (Matching Event) และได้มีโอกาสนำเสนอกิจการของคุณ เพื่อต่อยดให้ยั่งยืนต่อไปอีกด้วย

คุณสมบัติของผู้สมัคร
1.     สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นรายบุคคลหรือนิติบุคคล กลุ่มละไม่เกิน 3 คน
2.     มีเป้าหมายชัดเจนในการดำเนินกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาสังคม และ/หรือสิ่งแวดล้อม ในประเด็นต่างๆ ที่จะดำเนินการ
3.     สามารถเข้าร่วมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เพื่อพัฒนาแผนธุรกิจกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise Business Plan) ได้ตลอดระยะเวลา 3 วัน
4.     สามารถดำเนินกิจการเพื่อสังคมได้ทันทีหากแผนธุรกิจได้รับการคัดเลือก
ขั้นตอนและกำหนดการ
 
วิธีการส่งใบสมัคร 
1. ส่งใบสมัครออนไลน์ (พร้อมแนวคิดแผนธุรกิจ SE) ไปที่ info@tseo.or.th
2   2. ส่งทางไปรษณีย์ หรือด้วยตนเอง ที่ สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) 979 ชั้น 15 อาคาร เอส.เอ็ม.ทาวเวอร์ ถ.พหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2298 0500 ต่อ 2130 หรืออีเมล์ info@tseo.or.th
 
      มาร่วมกันสร้างสรรค์กิจการของตนเองเพื่อสังคมกันเถอะ คุณเองก็ทำได้!!